คณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 21 เม.ย. 68
คณะกรรมการกิจการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไต้หวันมุ่งผลักดันการวิจัยและการดำเนินการทางเทคโนโลยีป้องกันภัยพิบัติมาเป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง โดยได้รวบรวมทรัพยากรทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับประเด็นพายุไต้ฝุ่น ภัยแผ่นดินไหว การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและความเปราะบางทางสังคม เป็นต้น เพื่อมุ่งผลักดันการวิจัยแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการประสานความร่วมมือในระดับนานาชาติ ซึ่งเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ศูนย์เทคโนโลยีป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติของไต้หวัน (National Science and Technology Center for Disaster Reduction, NCDR) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์โลกและการป้องกันภัยพิบัติ (National Research Institute for Earth Science and Disaster Prevention, NIED) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ได้ร่วมลงนามต่ออายุสัญญาความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันภัยพิบัติอย่างเป็นทางการ ณ นครสึกูบะในจังหวัดอิบารากิของญี่ปุ่น โดย มีนายเฉินหงอวี่ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีป้องกันภัย และ Mr. Kaoru Takara ประธานคณะกรรมการบริหาร NIED ร่วมเป็นประธานในพิธีฯ
NIED ได้จัดตั้งอุปกรณ์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์เค และอุปกรณ์การสังเกตการณ์ไว้ทั่วทุกพื้นที่ในญี่ปุ่น นับตั้งแต่ที่ได้ก่อตั้งหน่วยงานขึ้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 เป็นต้นมา โดย NIED ได้จัดตั้งหน่วยงานวิจัยขั้นพื้นฐาน ห้องปฏิบัติการทดลองและสถาบันพัฒนาการวิจัยขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยมุ่งเน้นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาทิ แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด อุทกภัย แผ่นดินถล่ม และการแปรปรวนทางสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น ทั้งยังมุ่งเน้นการอภิปรายไปที่แนวทางการรับมือกับภัยพิบัติและการมุ่งสร้างเมืองยืดหยุ่น
ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือแบบทวิภาคีข้างต้น ครอบคลุมมิติทางความร่วมมือที่สรุปได้โดยสังเขป ดังนี้ : (1) การร่วมส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการรับมือและการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (2) ส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลและผลสัมฤทธิ์ทางเทคโนโลยีการป้องกันภัยพิบัติ (3) ดำเนินการแลกเปลี่ยนบุคลากรและกลไกการฝึกอบรม (4) เข้ามีส่วนร่วมในการสำรวจและวิเคราะห์เหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ และ (5) สลับกันจัดการประชุมสัมมนารูปแบบหมุนเวียนขึ้นในทุกปี เพื่อเสริมสร้างเวทีการแลกเปลี่ยน โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามความตกลงฉบับนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2563 ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งมั่นในการดำเนินภารกิจร่วมกัน ซึ่งบังเกิดผลสัมฤทธิ์ในด้านต่างๆ มากมายอย่างเป็นรูปธรรม บนพื้นฐานค่านิยมที่ยึดมั่นร่วมกันในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการผลักดันความยืดหยุ่นด้านการป้องกันภัยพิบัติในระดับภูมิภาค
ศูนย์เทคโนโลยีการป้องกันภัยพิบัติ และ NIED เคยร่วมจัดตั้งคณะทำงานสำรวจความเสียหายหลังภัยพิบัติขึ้น หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมืองฮัวเหลียนที่ไต้หวัน ปี 2567 และเหตุการณ์แผ่นดินไหวในคาบสมุทรโนโตะที่ญี่ปุ่น ปี 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมแบ่งปันข้อมูลต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน อาทิ การลงพื้นที่สำรวจสถานที่เกิดเหตุ การประเมินแนวทางการรับมือ และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดจากภัยพิบัติ พร้อมทั้งร่วมเรียบเรียงรายงานผลการสำรวจหลังภัยพิบัติ ทั้งนี้ เพื่อใช้เป็นหลักอ้างอิงในการรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในภายภาคหน้าต่อไป
ในระหว่างพิธีลงนาม ผอ.เฉินฯ กล่าวว่า ไต้หวัน – ญี่ปุ่น มีความคล้ายคลึงกันในด้านสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ และความเสี่ยงจากสาธารณภัย ภารกิจการมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือทางเทคโนโลยีป้องกันภัย จึงถือเป็นปัจจัยหลักในการยกระดับความยืดหยุ่นและความมั่นคงทางสังคมของกันและกัน นอกจากนี้ Mr. Takara ยังระบุอีกว่า การแลกเปลี่ยนและการประสานความร่วมมือทางเทคโนโลยีป้องกันภัย ถือเป็นรากฐานของการเสริมสร้างศักยภาพการรับมือกับสาธารณภัยในภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งเสริมสร้างการวิจัยทางวิทยาศาสตร์การป้องกันภัย ควบคู่ไปกับการเปิดการเสวนาที่เกี่ยวข้องด้านนโยบายร่วมกันต่อไป
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 กรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัย (National Fire Agency, MOI) ภายใต้การกำกับของกระทรวงมหาดไทยไต้หวัน ได้จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ทางสาธารณภัย ระหว่างไต้หวัน – ฟิจิ และพิธีเปิดหลักสูตร EMT-1 โดยมีอธิบดีกรมบรรเทาภัยฯ ไต้หวัน และ Mr. Puamau Sowane อธิบดีกรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัยแห่งชาติฟิจิ เป็นตัวแทนร่วมลงนาม MOU พร้อมกันนี้ นายหม่าซื่อหยวน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของไต้หวัน ก็ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี โดยรมช.หม่าฯ เน้นย้ำว่า ความร่วมมือครั้งนี้นอกจากจะสามารถยกระดับศักยภาพการบรรเทาและการกู้ภัยให้แก่ฟิจิแล้ว ยังเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีและประสบการณ์ด้านการป้องกันสาธารณภัยและการกู้ภัยของไต้หวัน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคตจะมีโอกาสเสริมสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคีในเชิงลึก เพื่อการฝึกอบรมบุคลากรด้านการบรรเทาสาธารณภัยที่ชำนาญการและน่าเชื่อถือต่อไป
รมช.หม่าฯ กล่าวว่า Mr. Sowane ได้เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อเดือนกันยายน ปี 2567 เพื่อเข้าสังเกตการณ์โครงการ “วันป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ประจำปี 2567 : การฝึกอบรมบุคลากรเพื่อช่วยบรรเทาและกู้ภัยในที่เกิดสาธารณภัยขนาดใหญ่” ซึ่ง Mr. Sowane รู้สึกประทับใจต่อศักยภาพความเชี่ยวชาญของบุคลากรไต้หวัน พร้อมแสดงจำนงในการเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึก อันเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงนาม MOU ในครั้งนี้ขึ้น
รมช.หม่าฯ ชี้แจงว่า กรมบรรเทาและป้องกันสาธารณภัยไต้หวัน ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของรัฐบาลฟิจิ ด้วยการช่วยฝึกอบรมความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่พนักงานฉุกเฉินการแพทย์ (Emergency Medical Technician, EMT) จำนวน 10 คนในช่วงระหว่างวันที่ 22 – 29 เมษายน 2568
นายเซียวห้วนจาง อธิบดี MOI กล่าวว่า ไต้หวันเปี่ยมด้วยประสบการณ์มากมายที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาและการช่วยกู้ภัยฉุกเฉิน โดยพวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ความช่วยเหลือฟิจิในการยกระดับเทคโนโลยีการบรรเทาและกู้ภัย ผ่านความร่วมมือในครั้งนี้ โดยในอนาคต พวกเราจะขยายขอบเขตการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก เพื่อเสริมสร้างการบูรณาการทางความร่วมมือระดับนานาชาติ ตลอดจนประสานความร่วมมือในการยกระดับศักยภาพการกู้ภัยในระดับนานาชาติ